วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2554

Technique for Teaching

ทฤษฎีพหุปัญญา (Multiple Intelligences Theory)

คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Assisted Instruction)

การสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร (Communicative Language Teaching (CLT))

การสอนแบบตรง(direct method)

การสอนตามแนวธรรมชาติ (Natural Approach-NA)

เทคนิคการสอนทักษะเขียนภาษาอังกฤษ (Writing Skill)


เทคนิคการสอนทักษะพูดภาษาอังกฤษ

เทคนิคการสอนทักษะอ่านภาษาอังกฤษ

เทคนิคการสอนทักษะฟังภาษาอังกฤษ

ทฤษฎีพหุปัญญา (Multiple Intelligences Theory)

ทฤษฎีพหุปัญญา (Multiple Intelligences Theory)
ทฤษฎีการเรียนรู้
                ผู้บุกเบิกทฤษฎีนี้คือ การ์ดเนอร์ (Gardner) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ในปี ค.. 1983 เขาได้เขียนหนังสือชื่อ “Frames of Mind : The Theory of Multiple Intelligences”  ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง แนวคิดของเขาก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดเกี่ยวกับ เชาว์ปัญญาเป็นอย่างมาก และกลายเป็นทฤษฎีที่กำลังมีอิทธิพลอย่างกว้างขวางต่อการจัดการศึกษาและการเรียนการสอน ในปัจจุบัน แนวคิดเกี่ยวกับเชาว์ปัญญา (Intelligences) ที่มีมาตั้งแต่เดิมนั้น จำกัดอยู่ที่ความสามารถด้านภาษา ความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์ และการคิดเชิงตรรกะหรือเชิงเหตุผลเป็นหลัก การวัดเชาวน์ปัญญาของผู้เรียนจะวัดจากคะแนนที่ทำได้จากแบบทดสอบทางสติปัญญา ซึ่งประกอบด้วยการทดสอบความสามารถทั้ง 2 ด้านดังกล่าว คะแนนจากการวัดเชาว์ปัญญาจะเป็นตัวกำหนดเชาว์ปัญญาของบุคคลนั้นไปตลอด เพราะมีความเชื่อว่า องค์ประกอบของเชาวน์ปัญญาจะไม่เปลี่ยนแปลงไปตามวัยหรือประสบการณ์มากนัก แต่เป็นคุณลักษะที่ติดตัวมาแต่กำเนิด การ์ดเนอร์ (Gardner, 1983) ให้นิยามคำว่า เชาวน์ปัญญา” (Intelligence) ไว้ว่า หมายถึงความสามารถในการแก้ปัญหาในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ หรือการสร้างสรรค์ผลงานต่าง ๆ ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับบริบททางวัฒนธรรมในแต่ละแห่ง รวมทั้งความสามารถใจการตั้งปัญหาเพื่อจะหาคำตอบและเพิ่มพูนความรู้ การ์ดเนอร์มีความเชื่อพื้นฐานที่สำคัญ 2 ประการ คือ
                1. เชาวน์ปัญญาของบุคคลมิได้มีเพียงความสามารถทางภาษาและทางคณิตศาสตร์เท่านั้น แต่มีอยู่อย่างหลากหลายถึง 8 ประเภทด้วยกัน ซึ่งเขาบอกว่า ความจริงอาจจะมีมากกว่านี้ คนแต่ละคนจะมีความสามารถเฉพาะด้านที่แตกต่างไปจากคนอื่น และมีความสามารถในด้านต่าง ๆ ไม่เท่ากัน ความสามารถที่ผสมผสานกันออกมา ทำให้บุคคลแต่ละคนมีแบบแผนซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน
                2. เชาวน์ปัญญาของแต่ละบุคคลจะไม่อยู่คงที่อยู่ที่ระดับที่ตนมีตอนเกิด สามารถเปลี่ยนแปลงได้ หากได้รับการส่งเสริมที่เหมาะสม ในความคิดของการ์ดเนอร์ เชาวน์ปัญญาของบุคคลประกอบด้วยความสามารถ 3 ประการคือ
                1. ความสามารถในการแก้ปัญหาในสภาพการณ์ต่าง ๆ ที่เป็นไปตามธรรมชาติและตามบริบททางวัฒนธรรมของบุคคลนั้น
                2. ความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีประสิทธิภาพและสัมพันธ์กับบริบททางวัฒนธรรม
                3. ความสามารถในการแสวงหาหรือตั้งปัญหาเพื่อหาคำตอบและเพิ่มพูนความรู้ เชาว์ปัญญา 8 ด้าน ตามแนวคิดของการ์ดเนอร์ มีดังนี้
                1. เชาวน์ปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence)
เชาวน์ปัญญาด้านนี้ถูกควบคุมโดยสมองส่วนที่เรียกว่า “Broca’s Area” สติปัญญาด้านนี้แสดงออกทางความสามารถในการอ่าน การเขียน การพูดอภิปราย การสื่อสารกับผู้อื่น การใช้คำศัพท์ การแสดงออกของความคิด การประพันธ์ การแต่งเรื่อง การเล่าเรื่อง เป็นต้น
                2. เชาว์ปัญญาด้านคณิตศาสตร์หรือการใช้เหตุผลเชิงตรรกะ (Logical Mathematical Intelligence)
ผู้ที่มีอัจฉริยภาพด้านการใช้เหตุผลเชิงตรรกะ มักจะคิดโดยใช้สัญลักษณ์ มีระบบระเบียบในการคิด ชอบคิดวิเคราะห์ แยกแยะสิ่งต่าง ๆ ให้เห็นชัดเจน ชอบคิดและทำอะไรตามเหตุผล เข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรมได้ง่าย ขอบและทำคณิตศาสตร์ได้ดี
                3. สติปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ (Spatial Inteligence)
เชาวน์ปัญญาด้านนี้ถูกควบคุมโดยสมองซีกขวา และแสดงออกทางความสามารถด้านศิลปะ การวาดภาพ ารสร้างภาพ การคิดเป็นภาพ การเห็นรายละเอียด การใช้สี การสร้างสรรค์งานต่าง ๆ และมักจะเป็นผู้มองเห็นวิธีแก้ปัญหาในมโนภาพ
                4. เชาวน์ปัญญาด้านดนตรี (Musical Inteligence)
เชาวน์ปัญญาด้านนี้ถูกควบคุมโดยสมองซีกขวา แต่ยังไม่สามารถระบุตำแหน่งที่แน่นอนไดื้บุคคลที่มีสติปัญญาทางด้านนี้ จะแสดงออกทางความสามารถในด้านจังหวะ การร้องเพลง การฟังเพลงและดนตรี การแต่งเพลง การเต้น และมีความไวต่อการรับรู้เสียงและจังหวะต่าง ๆ
                5. เชาวน์ปัญญาด้านการเคลื่อนไหวร่างกายและกล้ามเนื้อ (Bodily-Kinesthetic Intelligence)
เชาวน์ปัญญาด้านนี้ถูกควบคุมโดยสมองส่วนที่เรียกว่าคอร์เท็กซ์ โดยด้านซ้ายควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายซีกขวา และด้านขวาควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายซีกซ้าย สติปัญญาทางด้านนี้สังเกตได้จากความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น ในการเล่นกีฬา และเกมต่าง ๆ การใช้ภาษาท่าทาง การแสดง การเต้นรำ ฯลฯ
                6. เชาวน์ปัญญาด้านการสัมพันธ์กับผู้อื่น (Interpersonal Intelligence)
เชาว์ปัญญาด้านนี้ถูกควบคุมโดยสมองส่วนหน้า ความสามารถที่แสดงออกทางด้านนี้ เห็นได้จากการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การทำงานกับผู้อื่น การเข้าใจและเคารพผู้อื่น การแก้ปัญหาความขัดแย้ง และการจัดระเบียบ ผู้มีความสามารถทางด้านนี้ มักเป็นผู้ที่มีความไวต่อความรู้สึกและความต้องการของผู้อื่น
                7. เชาว์ปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Inteligence)
บุคคลที่สามารถในการเข้าใจตนเอง มักเป็นคนที่ชอบคิด พิจารณาไตร่ตรอง มองตนเอง และทำความเข้าใจถึงความรู้สึกและพฤติกรรมของตนเอง มักเป็นคนที่มั่นคงในความคิดความเชื่อต่าง ๆ จะทำอะไรมักต้องการเวลาในการคิดไตร่ตรอง และชอบที่จะคิดคนเดียว ชอบความเงียบสงบ สติปัญญาทางด้านนี้ มักเกิดร่วมกับสติปัญญาด้านอื่น มีลักษณะเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างเชาว์ปัญญา อย่างน้อย 2 ด้านขึ้นไป
                8. เชาวน์ปัญญาด้านความเข้าใจธรรมชาติ (Naturalist Inteligence)
เชาวน์ปัญญาด้านนี้เป็นความสามารถในการสังเกตสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ การจำแนกแยกแยะ จัดหมวดหมู่ สิ่งต่าง ๆ รอบตัว บุคคลที่มีความสามารถทางนี้ มักเป็นผู้รักธรรมชาติ เข้าใจธรรมชาติ ตระหนักในความสำคัญของสิ่งแวดล้อมรอบตัว และมักจะชอบและสนใจสัตว์ ชอบเลี้ยงสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
เนื่องจากเชาว์ปัญญาแต่ละด้านถูกควบคุมโดยสมองส่วนต่าง ๆ กัน ดังนั้นหากสมองส่วนใดถูกทำลาย ความสามารถในด้านที่สมองส่วนนั้นควบคุมก็จะได้รับความกระทบกระเทือนหรือเสียไปด้วย สำหรับสมองส่วนที่ไม่ถูกทำลาย ความสามารถในส่วนที่สมองนั้นควบคุมก็จะยังเป็นปกติ  อย่างไรก็ตาม เชาวน์ปัญญาแต่ละด้านไม่ได้ทำงานแยกจากกัน แต่มักจะทำงานในลักษณะผสมผสานกันไปแล้วแต่กิจกรรมที่ทำอยู่ว่าต้องการสติปัญญาส่วนใดบ้าง การ์ดเนอร์เชื่อว่า ในการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้จะดูเหมือนว่า ใช้เชาว์ปัญญาด้านหนึ่งด้านใดอย่างชัดเจน แต่แท้จริงแล้วต้องอาศัยเชาวน์ปัญญาหลาย ๆ ด้านผสมผสานกัน เช่น นักดนตรีที่ประสบความสำเร็จ แม้จะดูเหมือนว่าต้องอาศัยเชาวน์ปัญญาด้านดนตรี แต่จริง ๆ แล้ว การประสบความสำเร็จ ยังอาจต้องอาศัยเชาวน์ปัญญาด้านการสัมพันธ์กับผู้อื่น ด้านภาษา และด้านการเข้าใจตนเองด้วย
 การประยุกต์ใช้ทฤษฎีในการเรียนการสอน
                การมองและเข้าใจเชาว์ปัญญาในความหมายที่ต่างกัน ย่อมก่อให้เกิดการกระทำที่แตกต่างกัน ทฤษฎีพหุปัญญา ได้ขยายขอบเขตของความหมายของคำว่าปัญญาออกไปอย่างกว้างขวางมากขึ้นจากเดิม ส่งผลให้การจัดการเรียนการสอนขยายขอบเขตไปอย่างกว้างขวางเช่นกัน แนวทางการนำทฤษฎีพหุปัญญามาใช้ในการเรียนการสอนมีหลากหลายดังนี้
                1. เนื่องจากผู้เรียนแต่ละคนมีเชาวน์ปัญญาแต่ละด้านไม่เหมือนกัน ดังนั้นในการจัดการเรียนการสอนควรมีกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายที่สามารถส่งเสริมเชาวน์ปัญญาหลาย ๆ ด้าน มิใช่มุ่งพัฒนาแต่เพียงเชาวน์ปัญญาด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น ดังเช่นในอดีต เรามักจะมีการเน้นการพัฒนาด้านภาษาและด้านคณิศาสตร์หรือด้านการใช้เหตุผลเชิงตรรกะ อันเป็นการพัฒนาสมองซีกซ้ายเป็นหลัก ทำให้ผู้เรียนไม่มีโอกาสพัฒนาเชาวน์ปัญญาด้านอื่น ๆ เท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เรียนที่มีเชาวน์ปัญญาด้านอื่นสูง จะขาดโอกาสที่จะเรียนรู้และพัฒนาในด้านที่ตนมีความสามารถหรือถนัดเป็นพิเศษ การจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการของสติปัญญาหลาย ๆ ด้าน จะช่วยให้ผู้เรียนทุกคนมีโอกาสที่จะพัฒนาตนเองอย่างรอบด้าน พร้อมทั้งช่วยส่งเสริมอัจริยภาพหรือความสามารถเฉพาะตนของผู้เรียนไปในตัว
                2. เนื่องจากผู้เรียนมีระดับพัฒนาการในเชาวน์ปัญญาแต่ละด้านไม่เท่ากัน ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับขั้นพัฒนาการในแต่ละด้านของผู้เรียน ตัวอย่างเช่น เด็กที่มีเชาวน์ปัญญาด้านดนตรีสูงจะพัฒนาปัญญาด้านดนตรีของตนไปอย่างรวดเร็ว ต่างจากเด็กคนอื่น ๆ ดังนั้น การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เด็กที่มีขั้นพัฒนาการด้านใดด้านหนึ่งสูง ควรต้องแตกต่างไปจากเด็กที่มีขั้นพัฒนาการในด้านนั้นต่ำกว่า
                3. เนื่องจากผู้เรียนแต่ละคนมีเชาวน์ปัญญาแต่ละด้านไม่เหมือนกัน การผสมผสานของความสามารถด้านต่าง ๆ ที่มีอยู่ไม่เท่ากันนี้ ทำให้เกิดเป็นเอกลักษณ์ (Uniqueness) หรือลักษณะเฉพาะของแต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกัน หรืออีกนัยหนึ่ง เอกลักษณ์ของแต่ละบุคคลทำให้แต่ละคนแตกต่างกัน และความแตกต่างที่หลากหลาย (Diversity) นี้ สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม ดังนั้น กระบวนการคิดที่ว่าคนนี้โง่ หรือเก่งกว่าคนนั้นคนนี้จึงควรจะเปลี่ยนไป การสอนควรเน้นการส่งเสริมความเป็นเอกลักษณ์ของผู้เรียน ครูควรสอนโดยเน้นให้ผู้เรียนค้นหาเอกลักษณ์ของตน ภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของตนเอง และเคารพในเอกลักษณ์ของผู้อื่น  รวมทั้งเห็นคุณค่าและเรียนรู้ที่จะใช้ความแตกต่างของแต่ละบุคคลให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่นนี้ ผู้เรียนก็จะเรียนรู้อย่างมีความสุข มีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง เห็นคุณค่าในตนเอง ในขณะเดียวกันก็มีความเคารพในผู้อื่น และอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลกัน
                4. ระบบการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ควรจะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปจากแนวคิดเดิมที่ใช้การทดสอบเพื่อวัดความสามารถทางเชาวน์ปัญญาเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น และที่สำคัญคือ ไม่สัมพันธ์กับบริบทที่แท้จริงที่ใช้ความสามารถนั้น ๆ ตามปกติ วิธีการประเมินผลการเรียนการสอนที่ดี ควรมีการประเมินหลาย ๆ ด้าน และในแต่ละด้านควรเป็นการประเมินในสภาพการณ์ของปัญหาที่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยอุปกรณ์ที่สัมพันธ์กับเชาวน์ปัญญาด้านนั้น ๆ การประเมินจะต้องครอบคลุมความสามารถในการแก้ปัญหา หรือการสร้างสรรค์ผลงานโดยใช้อุปกรณ์ที่สัมพันธ์กับเชาวน์ปัญญาด้านนั้น อีกวิธีหนึ่งคือการให้เรียนอยู่ในสภาพการณ์ที่ซับซ้อนซึ่งต้องใช้สติปัญญาหลายด้าน หรือการให้อุปกรณ์ซึ่งสัมพันธ์กับเชาวน์ปัญญาหลาย ๆ ด้าน และสังเกตดูว่า ผู้เรียนเลือกใช้เชาวน์ปัญญาด้านใด หรือศึกษาและใช้อุปกรณ์ซึ่งสัมพันธ์กับเชาวน์ปัญญาด้านใด มากเพียงไร

คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Assisted Instruction)

คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Assisted Instruction)
                คอมพิวเตอร์ช่วยสอน หมายถึง วิถีทางของการสอนรายบุคคลโดยอาศัยความสามารถของ
เครื่องคอมพิวเตอร์ที่จะจัดหาประสบการณ์ที่มีความสัมพันธ์กันมีการแสดงเนื้อหาตามลำดับที่ต่างกันด้วยบทเรียนโปรแกรมที่เตรียมไว้อย่างเหมาะสม
ประเภทของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
1. บทเรียน (Tutorial) 
                เป็นโปรแกรมที่สร้างขึ้นมาในลักษณะของบทเรียนโปรแกรมที่เสนอเนื้อหาความรู้เป็นส่วนย่อย ๆ เลียนแบบการสอนของครู
2. ฝึกทักษะและปฏิบัติ (Drill and Practice)
                ส่วนใหญ่ใช้เสริมการสอน ลักษณะที่นิยมกันมากคือ การจับคู่ ถูก-ผิดเลือกข้อถูกจากตัวเลือก
3. จำลองแบบ (Simulation)
                นิยมใช้กับบทเรียนที่ไม่สามารถทำให้เห็นจริงได้
4. เกมทางการศึกษา (Educational Game)
5. การสาธิต (Demonstration) 

                นิยมใช้ในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์
6. การทดสอบ (Testing) 
                เป็นการวัดผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน
7.  การไต่ถาม (Inquiry) 
                ใช้เพื่อการค้นหาข้อเท็จจริง ความคิดรวบยอด
8. การแก้ปัญหา (Problem Solving) 
                เน้นการให้ฝึกการคิดการตัดสินใจ
9. แบบรวมวิธีต่าง ๆ เข้าด้วย (Combination) 
                ประยุกต์เอาวิธีสอนหลายแบบมารวมกันตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ
ประโยชน์ของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
1.ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามเอกัตภาพ
2.ผู้เรียนมีโอกาสเรียนซ้ำได้หลายครั้งเท่าที่ต้องการ
3.ผู้เรียนมีโอกาสโต้ตอบกับคอมพิวเตอร์และสามารถควบคุมการเรียนได้เอง
4.มีภาพ ภาพเคลื่อนไหว สี เสียง ทำให้ผู้เรียนไม่เบื่อหน่ายการเรียน
5.ตัวผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้
6.ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามขั้นตอนจากง่ายไปยาก หรือเลือกบทเรียนได้
7.ฝึกให้ผู้เรียนคิดอย่างมีเหตุผล
ลักษณะของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
                คอมพิวเตอร์ช่วยสอนเป็นการเรียนการสอนแบบรายบุคคลที่นำเอาหลักการของบทเรียนโปรแกรมและเครื่องช่วยสอนมาผสมผสานกัน โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะตอบสนองในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล
ของผู้เรียนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางการศึกษาเป็นรายบุคคลคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมีลักษณะการเรียนที่เป็นขั้นตอน ดังนี้
                1.ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน
                2.ขั้นการเสนอเนื้อหา
                3.ขั้นคำถามและคำตอบ
                4.ขั้นการตรวจคำตอบ
                5.ขั้นของการปิดบทเรียน
ลักษณะของการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่ดี มีดังนี้
                1.  สร้างขึ้นตามจุดประสงค์ของการสอน
                2.  เหมาะสมกับลักษณะของผู้เรียน
                3.  มีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนให้มากที่สุด
                4.  มีลักษณะเป็นการสอนรายบุคคล
                5.  คำนึงถึงความสนใจของผู้เรียน
                6.  สร้างความรู้สึกในทางบวกกับผู้เรียน
                7.  จัดทำบทเรียนให้สามารถแสดงผลย้อนกลับไปยังผู้เรียนให้มาก ๆ
                8.  เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางการเรียนการสอน
                9.  มีวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้เรียนอย่างเหมาะสม
                10.ใช้สมรรถนะของเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างเต็มที่ และหลีกเลี่ยงข้อจำกัดบางอย่างของเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่บนพื้นฐานของการออกแบบการสอนคล้ายกับการผลิตสื่อชนิดอื่น ๆควรมีการประเมินผลทุกแง่ทุกมุม

การสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร (Communicative Language Teaching (CLT))

การสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร (Communicative Language Teaching (CLT))
                1. ความหมาย การสอนภาษาตามแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร เป็นการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฎีการเรียนรู้ ซึ่งมุ่งเน้นความสำคัญของตัวผู้เรียนจัดลำดับการเรียนรู้เป็นขั้นตอนตามกระบวนการใช้ความคิดของผู้เรียน โดยเริ่มจากการฟังไปสู่การพูด การอ่าน การจับใจความสำคัญ ทำความเข้าใจ จดจำแล้วนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้
                2. ความสำคัญ กลุ่มนักจิตวิทยาการเรียนรู้เชื่อว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุดในการเรียน ผู้เรียนจะสามารถเรียนได้มากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความเข้าใจเป็นสำคัญ เขาจะเรียนได้ดีถ้าเข้าใจจุดประสงค์ของการเรียน เห็นประโยชน์ในการนำสิ่งที่เรียนไปใช้ โดยสามารถเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนไปแล้วให้เข้ากับสิ่งที่กำลังเรียนอยู่ และสิ่งที่จะช่วยให้เรียนภาษาต่างประเทศได้ดี นอกเหนือจากสองเรื่องที่กล่าวมาแล้วก็คือ ต้องเข้าใจหลักภาษาที่ใช้ในการวางรูปแบบประโยคด้วยการสอนภาษาต่างประเทศในปัจจุบัน ได้หันมายึดแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารมากขึ้น มีการจัดกิจกรรมที่เน้น ผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมี
ความหมาย ได้ฝึกใช้ภาษาในสถานการณ์ที่มีโอกาสพบได้จริงในชีวิตประจำวัน โดยยังคงให้ความสำคัญกับโครงสร้างไวยากรณ์ ตามที่ปรากฏอยู่ในเนื้อหาที่ใช้สื่อความหมาย ดังที่ ลิตเติลวูด (Littlewood, 1983) กล่าวไว้ว่า แนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารเป็นแนวการสอนที่ไม่จำกัดความสามารถของผู้เรียนไว้เพียงแค่ความรู้ด้านโครงสร้างไวยากรณ์เท่านั้น แต่สนับสนุนให้ผู้เรียนได้มีการพัฒนาทักษะการใช้ภาษาทุก
ทักษะ โดยสัมพันธ์ความสามารถทางไวยากรณ์เข้ากับยุทธศาสตร์การสื่อสารด้วยวิธีการที่ถูกต้องและเหมาะสมกับกาลเทศะ ในชีวิตจริงผู้เรียนต้องสัมผัสกับการสื่อสารซึ่งเป็นการใช้ภาษาในรูปแบบต่างๆมากมาย ดังนั้นการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร ควรสอนให้ผู้เรียนคุ้นกับการใช้ภาษาในชีวิตประจำวัน และนำภาษาที่คุ้นเคยนั้นไปใช้ได้คำกล่าวนี้สอดคล้องกับความเห็นของ วิดโดสัน (Widdowson, 1979) ที่ว่า
ความสามารถในการเรียบเรียงประโยคมิใช่เป็นความสามารถในการสื่อสาร การสื่อสารจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถใช้ประโยคได้หลายชนิดในโอกาสต่างๆกันเช่น การอธิบาย การแนะนำ การถาม-ตอบ การขอร้อง การออกคำสั่ง เป็นต้นความรู้ในการแต่งประโยคเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า ความรู้ความเข้าใจภาษา เท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์อยู่บ้าง แต่ถ้าจะให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ก็ต้องสามารถนำความรู้ในการใช้ประโยคไปใช้ให้เป็นปกติวิสัยได้ตามโอกาสต่างๆของการสื่อสาร
                3. แนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร ตามคำจำกัดความที่ ดักกลาสบราวน์ (H.Douglas Brown,1993) เสนอไว้ มีลักษณะ 4 ประการ ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์
กันดังนี้
                3.1 เป้าหมายของการสอนเน้นไปที่องค์ประกอบทั้งหมดของทักษะการสื่อสาร และไม่จำกัดอยู่ภายในกรอบของเนื้อหาภาษาหรือไวยากรณ์
                3.2 เทคนิคทางภาษาได้รับการออกแบบมา เพื่อนำผู้เรียนไปสู่การใช้ภาษาอย่างแท้จริงตามหน้าที่ภาษา และปฏิบัติจริงโดยมีจุดมุ่งหมายในการพูดรูปแบบโครงสร้างภาษามิใช่เป้าหมายหลัก แต่ตัวรูปแบบเฉพาะของภาษาต่างหากที่ทำให้ผู้เรียนสามารถสื่อสารจนสำเร็จตามเป้าหมาย
                3.3 ความคล่องแคล่วและความถูกต้อง เป็นหลักการเสริมที่อยู่ภายใต้เทคนิคการสื่อสาร มีหลายครั้งที่ความคล่องแคล่วอาจจะมีความสำคัญมากกว่าความถูกต้อง เพื่อที่จะทำให้ผู้เรียนนำภาษาไปใช้ได้อย่างมีความหมาย
                3.4 ในการเรียนการสอนภาษาตามแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารในตอนท้ายสุด ผู้เรียนต้องใช้ภาษาอย่างเข้าใจและสร้างสรรค์ ภายในบริบทที่ไม่เคยฝึกมาก่อนจากแนวการสอนต่างๆดังได้กล่าวมาแล้ว ทำให้เกิดแนวคิดในการสอนภาษาว่าควรนำเสนอภาษาใหม่ในรูปแบบภาษาที่พบในสถานการณ์จริง เพื่อนำไปสู่การสอนคำศัพท์ โครงสร้าง การออกเสียง มีการฝึกฝนจนเกิดความเข้าใจในเนื้อหา โครงสร้าง
สามารถใช้ได้ถูกต้อง แล้วจึงนำความรู้ที่ได้ไปฝึกในสถานการณ์จริง แนวคิดนี้จึงกลายเป็นขั้นตอนของการสอนของแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร
                4. ขั้นตอนการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร จากแนวคิดในการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารแบบนี้เอง จึงทำให้เกิดขั้นตอนการสอนต่างๆ 3 ขั้นตอน ที่ใช้จัดการสอนกันทั่วไปในขณะนี้ขึ้น และขั้นตอนการสอนนี้ มีผลเชื่อมโยงต่อไปถึงสถานการณ์การสอน เทคนิคการสอน สื่ออุปกรณ์ และหน่วยการสอนด้วย ครูผู้สอนจึงควรทำความเข้าใจให้ชัดเจน เพื่อจะได้จัดการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพขั้นตอนการสอนทั้ง 3 ขั้นนี้ จะพบว่า มีปรากฏอยู่ในวิธีการนำเสนอเนื้อหาในแบบเรียนต่างๆ ที่ผู้เขียนแบบเรียนมีความรู้ด้านภาษาศาสตร์และแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารเป็นอย่างดี และปรากฏอยู่ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวการ
สอนภาษาเพื่อการสื่อสารอย่างชัดเจนทั้ง 3 ขั้นตอน วิธีการดำเนินการในแต่ละขั้นตอนมีดังต่อไปนี้
                4.1 ขั้นการนำเสนอเนื้อหา (Presentation) ในการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ การนำเสนอเนื้อหาใหม่ จัดเป็นขั้นการสอนที่สำคัญขั้นหนึ่ง ในขั้นนี้ครูจะให้ข้อมูลทางภาษาแก่ผู้เรียน ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นการเรียนรู้ มีการนำเสนอเนื้อหาใหม่ โดยจะมุ่งเน้นการให้ผู้เรียนได้รับรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายและรูปแบบภาษาที่ใช้กันจริงโดยทั่วไป รวมทั้งวิธีการใช้ภาษา ไม่ว่าเป็นด้านการออกเสียง ความหมาย คำศัพท์ และโครงสร้างไวยากรณ์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ ควบคู่ไปกับการเรียนรู้กฎเกณฑ์
                4.2 ขั้นการฝึกปฏิบัติ (Practice) เป็นขั้นตอนที่ให้ผู้เรียนได้ฝึกใช้ภาษาที่เพิ่งจะเรียนรู้ใหม่จากขั้นการนำเสนอเนื้อหาในลักษณะของการฝึกแบบควบคุมหรือชี้นำ (Controlled Practice/Directed Activities) โดยมีครูผู้สอนเป็นผู้นำในการฝึกไปสู่การฝึกแบบค่อยๆปล่อยให้ทำเองมากขึ้น เป็นแบบกึ่งควบคุม
(Semi-Controlled) การฝึกในขั้นนี้มีจุดมุ่งหมายให้ผู้เรียนจดจำรูปแบบของภาษาได้ จึงเน้นที่ความถูกต้อง
ของภาษาเป็นหลัก แต่ก็มีจุดมุ่งหมายให้ผู้เรียนได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายและวิธีการใช้รูปแบบภาษานั้นๆด้วยเช่นกัน ในการฝึกนั้น ครูผู้สอนจะเริ่มจากการฝึกปากเปล่า (Oral) ซึ่งเป็นการพูดตามแบบง่ายๆก่อน จนได้รูปแบบภาษา แล้วค่อยเปลี่ยนสถานการณ์ไป สถานการณ์เหล่านี้จะเป็นสถานการณ์ที่สร้างขึ้นภายในห้องเรียน เพื่อฝึกการใช้โครงสร้างประโยคตามบทเรียน ทั้งนี้ครูผู้สอนต้องให้ข้อมูลป้อนกลับด้วย เพื่อให้ผู้เรียนรู้ว่า ตนใช้ภาษาได้ถูกต้องหรือไม่ นอกจากนี้อาจตรวจสอบความเข้าใจด้านความหมายได้
(ไม่ควรใช้เวลามากนัก) ต่อจากนั้นจึงให้ฝึกด้วยการเขียน (Written) เพื่อเป็นการผนึกความแม่นยำในการใช้
                4.3 ขั้นการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร (Production) ขั้นการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร นับเป็นขั้นที่สุดขั้นหนึ่ง เพราะการฝึกใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารเปรียบเสมือนการถ่ายโอนการเรียนรู้ภาษาจากสถานการณ์ในชั้นเรียนไปสู่การนำภาษาไปใช้จริงนอกชั้นเรียน การฝึกใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารโดยทั่วไป มุ่งหวังให้ผู้เรียนได้
ลองใช้ภาษาในสถานการณ์ต่างๆ ที่จำลองจากสถานการณ์จริง หรือที่เป็นสถานการณ์จริง ด้วยตนเอง โดยครูผู้สอนเป็นเพียงผู้แนะแนวทางเท่านั้น การฝึกใช้ภาษาในลักษณะนี้มีประโยชน์ในแง่ที่ช่วยให้ทั้งครูผู้สอนและผู้เรียนได้รู้ว่า ผู้เรียนเข้าใจและเรียนรู้ภาษาไปแล้วมากน้อยเพียงใด สามารถนำไปปรับใช้ตามความต้องการของตนเองแค่ไน ซึ่งการที่จะถือว่าผู้เรียนได้เรียนรู้แล้วอย่างแท้จริงคือ การที่ผู้เรียนสามารถใช้
ภาษาเพื่อการสื่อสารได้เองอย่างอิสระ ภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ที่จะพบในชีวิตจริงนอกจากนี้ผู้เรียนจะมีโอกาสนำความรู้ทางภาษาที่เคยเรียนมาแล้วมาใช้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ในการฝึกในขั้นตอนนี้อีกด้วย เพราะผู้เรียนไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาตามรูปแบบที่กำหนดมาให้เหมือนดังกรฝึกในขั้นการฝึก และการได้เลือกใช้ภาษาเองนี้ช่วยสร้างความมั่นใจในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารให้แก่ผู้เรียนได้เป็นอย่างดี วิธีการฝึกมักฝึกในรูปของการทำกิจกรรมแบบต่างๆ โดยครูผู้สอนเป็นเพียงผู้กำหนดภาระงาน หรือสถานการณ์
ต่างๆให้ผู้เรียน

การสอนแบบตรง(direct method)

การสอนแบบตรง(direct method)
                การสอนแบบตรงเป็นวิธีแรกหลังจากเกิดการปฏิรูปทางด้านการสอนภาษาต่างประเทศเนื่องจาก นักภาษาศาสตร์เห็นว่าวิธีสอนแบบไวยากรณ์และแปลมิได้ช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารดังนั้นจุดมุ่งหมายของการสอนแบบตรงคือมุ่งให้ผู้เรียนใช้ภาษาเพื่อการติดต่อสื่อสาร บทเรียนส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยกิจกรรมที่เป็นบทสนทนา เพื่อเปิดโอกาส ให้ผู้เรียนได้ใช้ภาษาในสถานการณ์ต่าง ๆ ผู้เรียนจะถูกกระตุ้นให้ใช้ภาษาต่างประเทศที่กำลังเรียนอยู่ตลอดเวลา โดยไม่มีการใช้ภาษาของผู้เรียนเลยเวลาสอนผู้สอนจะพยายามสร้างสภาพแวดล้อมในห้องเรียน ให้เหมือนสภาพแวดล้อมที่ต้องใช้ภาษาต่างประเทศผู้สอนจะใช้ภาษาต่างประเทศตลอดเวลา ไม่มีการเน้นสอนไวยากรณ์จะไม่มีการบอกกฎไวยากรณ์อย่างชัดเจน แต่การเรียนรู้ไวยากรณ์จะเรียนรู้อยากตัวอย่างและการใช้ภาษา แล้วสรุปกฎเกณฑ์ ถึงแม้จะมีการฝึกทักษะทั้ง 4 คือ ฟัง-พูด อ่าน เขียน แต่การฝึกทักษะพูดเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดทักษะอ่าน และเขียนจะมีพื้นฐานมาจากการพูดก่อน วิธีสอนแบบนี้เน้นการรู้วัฒนธรรมของเจ้าของภาษา รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของผู้พูดภาษานั้น ๆ ด้วย
                วิธีการสอนแบบตรงบางครั้งเรียกว่าวิธีสอนตามแนวธรรมชาติ (natural method) ในศตวรรษที่ 19 เริ่มมีการปฏิรูปทฤษฎีการเรียนรู้ทางภาษาโดยให้ความสนใจกับการเรียนรู้ภาษาตามแนวธรรมชาติคือ มีความคิดที่จะพยายามสอนภาษาที่สองเหมือนกับการสอนภาษาที่หนึ่ง นักภาษาศาสตร์หลาย ๆ คนเชื่อว่าการสอนภาษาต่างประเทศไม่มีความจำเป็นต้องแปลเป็นภาษา ที่หนึ่งถ้าผู้สอนรู้จักที่จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจโดยการสาธิตและแสดงท่าทาง จากเหตุผลที่ไม่ใช้ภาษาที่หนึ่ง ในชั้นเรียนจึงทำให้วิธีสอนแบบตรงมีปัญหาเรื่องครูสอน เพราะครูผู้สอนวิธีนี้จะเป็นครูที่เป็นเจ้าของภาษา เนื่องจากครูที่ไม่ใช้เจ้าของภาษามีข้อจำกัดในการใช้ภาษาเป้าหมายตลอดเวลาจึงหาครูที่มีความสามารถเช่นนี้ ไม่ค่อยง่ายนัก และการหลีกเลี่ยงไม่ใช้ภาษาที่หนึ่งเลยบางทีก็เกิดผลเสียบางครั้งการใช้ภาษาที่หนึ่ง อธิบายเพียงสั้น ๆ อาจทำให้ผู้เรียนเกิดความกระจ่างและช่วยให้เกิดการเรียนรู้ทางภาษาได้เร็วกว่าใช้ภาษาที่สอง นอกจากนั้นการที่ผู้สอนใช้ภาษาเป้าหมายตลอดเวลาในชั้นเรียนทำให้ผู้เรียนเกิดความคับข้องใจ (frustration) ด้วยข้อจำกัดดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้นักภาษาศาสตร์พัฒนาวิธีสอนใหม่ขึ้นมาคือ วิธีสอนแบบฟัง-พูด (audio-lingual method)
สรุปลักษณะสำคัญของการสอนแบบตรงดังนี้
                - ใช้ภาษาเป้าหมายเท่านั้น          
                - ผู้เรียนจะถูกฝึกให้ใช้ภาษาเป้าหมายที่เป็นภาษาที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน          
                 - ผู้เรียนถูกกระตุ้นให้คิดเป็นภาษาเป้าหมาย          
            - ทักษะแรกที่เน้นคือทักษะพูดแล้วจึงพัฒนาทักษะอ่าน

การสอนตามแนวธรรมชาติ (Natural Approach-NA)

การสอนตามแนวธรรมชาติ (Natural Approach-NA)
                NA เป็น แนวการสอนที่พยายามเลียนแบบการรับรู้(acquire) ภาษาที่หนึ่งของเด็กเล็กๆซึ่งเป็นการรับรู้ภาษาที่เกิดตามธรรมชาติโดยที่ไม่มีใครสอน คำว่า natural approach และ natural method (direct method) และต่างกันตรงที่ direct method เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลางน้อยกว่า (Baker & Jones, 1998) Direct Method เน้นการพูดของครู (teacher talk time-TTT) มากกว่า ที่จะเปิดโอกาสให้นักเรียนพูด (student talk time- STTT) และเน้นการแก้ข้อผิดพลาดของผู้เรียน นอกจากนั้นแนวการสอนตามธรรมชาติยังต่างจากวิธีสอนแบบ grammar translation และวิธีสอนแบบ audio-lingual method ตรงที่การสอนตามแนวธรรมชาติเน้นการใช้ภาษาเพื่อสื่อความหมาย (meaning) และเน้นหน้าที่ (function) ของภาษา ซึ่งเป็นการการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารเหมือนกับวิธีสอนแบบสื่อสาร ( communicative language teaching- CLT) (ค้นเมื่อ วันที่ 12 พศจิกายน 2544 จาก the World Wide Web ; http://www.mapages.com/thena/The_Natural_Approach) การเลือกเนื้อหาและเรื่องที่สอนต้องสอดคล้องกับความสนใจของผู้เรียน ทักษะฟังควรฝึกก่อนทักษะพูด ก่อนที่ผู้สอนจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะเขียนต้องคำนึงความพร้อมของผู้เรียนเพราะทักษะนี้ต้องใช้เวลานานในการสร้างความพร้อม ผู้สอนไม่ควรเร่งเพราะจะทำให้ผู้เรียนวิตกกังวลซึ่งมีผลต่อทัศนคติและแรงจูงใจ การช่วยลดความวิตกกังวล (low anxiety) เป็นสิ่งสำคัญในการเรียนภาษาที่สอง            
การสอนตามแนวธรรมชาตินี้ผู้สอนต้องใช้ภาษาของเจ้าของภาษาตลอดเวลา ซึ่งเป็นปัญหากับผู้สอนที่ไม่ใช่เจ้าของภาษา ในการแก้ปัญหาดังกล่าวผู้สอนอาจใช้เทคนิคต่างๆเพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจ ตัวป้อน (input)เช่นการเทคนิคใบ้คำ ( mime) การใช้ภาษาท่าทาง (body language) เป็นต้น หรือผู้สอนอาจใช้เทป หรือ วิดีโอช่วยก็ได้             
                Krashen และ Terrell (1983) เป็นผู้คิดค้นวิธีสอนแบบนี้ขึ้นมา Stephen Krashen เป็นนักภาษาศาสตร์ประยุคแห่งมหาวิทยาลัย Southern California งานที่สำคัญที่เป็นที่แพร่หลายคือทฤษฎีการรับรู้และการพัฒนาการการเรียนภาษาที่สอง (theory of second language acquisition) ทฤษฏีนี้มีอิทธิพลต่องานวิจัยและการเรียนภาษาที่สองอย่างกว้างขวางตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา นอกจากนั้นKrashen ยังได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของผู้เรียนที่ไม่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่หนึ่ง และผู้เรียนที่ใช้สองภาษา ( bilingual) ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา หนังสือของเขาได้รับการตีพิมพ์มากกว่า ๆ 100 เล่มและบทความมากกว่า 300 บทความที่ได้รับการยอมรับทั้งในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา             
                Krashen เชื่อว่าจุดมุ่งหมายของการสอนภาษาที่สองต้องจัดกระบวนการเรียนเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจตัวป้อน (input)ได้ง่ายและเร็วขึ้นครูที่ดีต้องเข้าใจกระบวนการรับรู้ (acquire) ภาษาที่หนึ่งของเด็กเล็กๆเพื่อเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจการเรียนรู้ภาษาที่สองของผู้เรียน ผู้สอนต้องจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ใกล้เคียงกับการเรียนภาษาที่หนึ่งมากที่สุด ซึ่งสามารถทำได้โดยให้ผู้เรียนได้มีโอกาสใช้ภาษาในสถานการณ์จริงนอกเหนือจากการจัดกิจกรรมในชั้นเรียน ตามสมมุติฐานAffective Filter Hypothesis ของ           Krashen ถือว่า ความวิตกกังวล (anxiety) เป็นตัวแปรที่มีผลต่อความสำเร็จในการเรียนภาษาที่สอง ถ้าผู้เรียนเกิดแรงจูงใจสูงมีแนวโน้มที่จะแสวงหาโอกาสในการปฎิสัมพันธ์ กับเจ้าของภาษาผู้เรียนที่มีทัศนคติด้านบวกต่อการเรียนภาษาเป้าหมายจะเรียนได้ดีกว่าผู้เรียนที่มีทัศนคติด้านลบ ดังนั้นในการจัดกิจกรรมในชั้นเรียนครูต้องจัดบรรยากาศที่เป็นมิตรเพื่อเสริมให้ผู้เรียนมีทํศนคติที่ดีและมีความเชื่อมั่นในตนเอง Krashen ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนภาษาที่สอง ถ้าผู้เรียนเกิดทัศนคติที่ดีและมีความเชื่อมั่นในตัวเองจะทำให้เกิดความกล้า(risk taking) ที่จะสนทนากับเจ้าของภาษาทำให้เพิ่มขีดความสามารถในการสนทนา (conversational competence) และยังรวมไปถึงความสามารถในการใช้เทคนิค (strategy) ที่หลากหลายเพื่อช่วยให้สื่อความหมายได้ดีขึ้นทำให้การสนทนาไม่หยุดลงกลางคัน เช่นการใช้ท่าทาง การถามย้อนกลับเพื่อให้เจ้าของภาษาช่วยตรวจสอบเป็นต้น            
                ส่วน Terrell เป็นครูสอนภาษาสเปนในแคลิฟอเนียร์ มีประสบการณ์ด้านการสอนแบบธรรมชาติ Terrell ได้ร่วมมือกับ Krahenคิดวิธีการสอนขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า " The Natural Approach-NA" และได้รับการตีพิมพ์ ในปี1983 เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ Krashen และ Terrell ได้อธิบายวิธีการที่จะช่วยให้ ผู้เรียนภาษาที่สองมีความสามารถในการใช้ภาษาได้โดยตรงโดยไม่ผ่านกระบวนการสอน กล่าวคือผู้เรียนภาษาที่สองไม่จำเป็นต้องเรียนรู้กฎเกณฑ์ภาษาโดยตรงเหมือนวิธีสอนแบบ grammar translatio

เทคนิคการสอนทักษะเขียนภาษาอังกฤษ (Writing Skill)

เทคนิคการสอนทักษะเขียนภาษาอังกฤษ (Writing Skill)
                การเขียน คือ การสื่อสารให้ผู้อื่นได้รับรู้ด้วยข้อความเป็นลายลักษณ์อักษร มีจุดมุ่งหมายเพื่อถ่ายทอดความคิดของผู้ส่งสารคือผู้เขียนไปสู่ผู้รับสารคือผู้อ่าน กระบวนการสอนทักษะการเขียน ยังจำเป็นต้องเริ่มต้นจากการสร้างระบบในการเขียน จากความถูกต้องแบบควบคุมได้ (Controlled Writing) ไปสู่การเขียนแบบควบคุมน้อยลง (Less Controlled Writing) อันจะนำไปสู่การเขียนแบบอิสระ ( Free Writing) ได้ในที่สุด ครูผู้สอนควรมีความรู้และความสามารถในการจัดการเรียนรู้เพื่อฝึกทักษะการเขียนให้แก่ผู้เรียนได้อย่างไร ผู้เรียนจึงจะมีทักษะการเขียนภาษาอังกฤษที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
เทคนิคการสอนทักษะการเขียนภาษาอังกฤษ ( Writing Skill)
1. เทคนิควิธีปฎิบัติ
การฝึกทักษะการเขียน มี 3 แนวทาง คือ
                1.1 การเขียนแบบควบคุม (Controlled Writing) เป็นแบบฝึกการเขียนที่มุ่งเน้นในเรื่องความถูกต้องของรูปแบบ เช่น การเปลี่ยนรูปทางไวยากรณ์ คำศัพท์ในประโยค โดยครูจะเป็นผู้กำหนดส่วนที่เปลี่ยนแปลงให้ผู้เรียน ผู้เรียนจะถูกจำกัดในด้านความคิดอิสระ สร้างสรรค์ ข้อดีของการเขียนแบบควบคุมนี้ คือ การป้องกันมิให้ผู้เรียนเขียนผิดตั้งแต่เริ่มต้น กิจกรรมที่นำมาใช้ในการฝึกเขียน เช่น
Copying , เป็นการฝึกเขียนโดยการคัดลอกคำ ประโยค หรือ ข้อความที่กำหนดให้ ในขณะที่เขียนคัดลอก ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้การสะกดคำ การประกอบคำเข้าเป็นรูปประโยค และอาจเป็นการฝึกอ่านในใจไปพร้อมกัน Gap Filing เป็นการฝึกเขียนโดยเลือกคำที่กำหนดให้ มาเขียนเติมลงในช่องว่างของประโยค ผู้เรียนจะได้ฝึกการใช้คำชนิดต่างๆ (Part of Speech) ทั้งด้านความหมาย และด้านไวยากรณ์
Re-ordering Words, เป็นการฝึกเขียนโดยเรียบเรียงคำที่กำหนดให้ เป็นประโยค ผู้เรียนได้ฝึกการใช้คำในประโยคอย่างถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ และเรียนรู้ความหมายของประโยคไปพร้อมกัน
Changing forms of Certain words เป็นการฝึกเขียนโดยเปลี่ยนแปลงคำที่กำหนดให้ในประโยค ให้เป็นรูปพจน์ หรือรูปกาล ต่างๆ หรือ รูปประโยคคำถาม ประโยคปฏิเสธ ฯลฯ ผู้เรียนได้ฝึกการเปลี่ยนรูปแบบของคำได้อย่างสอดคล้องกับชนิดและหน้าที่ของคำในประโยค Substitution Tables เป็นการฝึกเขียนโดยเลือกคำที่กำหนดให้ในตาราง มาเขียนเป็นประโยคตามโครงสร้างที่กำหนด ผู้เรียนได้ฝึกการเลือกใช้คำที่หลากหลายในโครงสร้างประโยคเดียวกัน และได้ฝึกทำความเข้าใจในความหมายของคำ หรือประโยคด้วย
                1.2 การเขียนแบบกึ่งควบคุม (Less – Controlled Writing) เป็นแบบฝึกเขียนที่มีการควบคุมน้อยลง และผู้เรียนมีอิสระในการเขียนมากขึ้น การฝึกการเขียนในลักษณะนี้ ครูจะกำหนดเค้าโครงหรือรูปแบบ แล้วให้ผู้เรียนเขียนต่อเติมส่วนที่ขาดหายไปให้สมบูรณ์ วิธีการนี้ ช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะความสามารถในการเขียนได้มากขึ้น อันจะนำไปสู่การเขียนอย่างอิสระได้ในโอกาสต่อไป กิจกรรมฝึกการเขียนแบบกึ่งอิสระ เช่น
                Sentence Combining เป็นการฝึกเขียนโดยเชื่อมประโยค 2 ประโยคเข้าด้วยกัน ด้วยคำขยาย หรือ คำเชื่อมประโยค ผู้เรียนได้ฝึกการเขียนเรียบเรียงประโยคโดยใช้คำขยาย หรือคำเชื่อมประโยค ในตำแหน่งที่ถูกต้อง Describing People เป็นการฝึกการเขียนบรรยาย คน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ โดยใช้คำคุณศัพท์แสดงคุณลักษณะของสิ่งที่กำหนดให้ ผู้เรียนได้ฝึกการใช้คำคุณศัพท์ขยายคำนามได้อย่างสอดคล้อง และตรงตามตำแหน่งที่ควรจะเป็น Questions and Answers Composition เป็นการฝึกการเขียนเรื่องราว ภายหลังจากการฝึกถามตอบปากเปล่าแล้ว โดยอาจให้จับคู่แล้วสลับกันถามตอบปากเปล่าเกี่ยวกับเรื่องราวที่กำหนดให้ แต่ละคนจดบันทึกคำตอบของตนเองไว้ หลังจากนั้น จึงให้เขียนเรียบเรียงเป็นเรื่องราว 1 ย่อหน้า ผู้เรียนได้ฝึกการเขียนเรื่องราวต่อเนื่องกัน โดยมีคำถามเป็นสื่อนำความคิด หรือเป็นสื่อในการค้นหาคำตอบ ผู้เรียนจะได้มีข้อมูลเป็นรายข้อที่สามารถนำมาเรียบเรียงต่อเนื่องกันไปได้อย่างน้อย 1 เรื่อง Parallel Writing เป็นการฝึกการเขียนเรื่องราวเทียบเคียงกับเรื่องที่อ่าน โดยเขียนจากข้อมูล หรือ ประเด็นสำคัญที่กำหนดให้ ซึ่งมีลักษณะเทียบเคียงกับความหมายและโครงสร้างประโยค ของเรื่องที่อ่าน เมื่อผู้เรียนได้อ่านเรื่องและศึกษารูปแบบการเขียนเรียบเรียงเรื่องนั้นแล้ว ผู้เรียนสามารถนำข้อมูลหรือประเด็นที่กำหนดให้มาเขียนเลียนแบบ หรือ เทียบเคียงกับเรื่องที่อ่านได้ Dictation เป็นการฝึกเขียนตามคำบอก ซึ่งเป็นกิจกรรมที่วัดความรู้ ความสามารถของผู้เรียนในหลายๆด้าน เช่น การสะกดคำ ความเข้าใจด้านโครงสร้างประโยค ไวยากรณ์ รวมถึงความหมายของคำ ประโยค หรือ ข้อความที่เขียน
                1.3 การเขียนแบบอิสระ ( Free Writing) เป็นแบบฝึกเขียนที่ไม่มีการควบคุมแต่อย่างใด ผู้เรียนมีอิสระเสรีในการเขียน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความคิด จินตนาการอย่างกว้างขวาง การเขียนในลักษณะนี้ ครูจะกำหนดเพียงหัวข้อเรื่อง หรือ สถานการณ์ แล้วให้ผู้เรียนเขียนเรื่องราวตามความคิดของตนเอง วิธีการนี้ ช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะความสามารถในการเขียนได้เต็มที่ ข้อจำกัดของการเขียนลักษณะนี้ คือ ผู้เรียนมีข้อมูลที่เป็นคลังคำ โครงสร้างประโยค กระสวนไวยากรณ์เป็นองค์ความรู้อยู่ค่อนข้างน้อย ส่งผลให้การเขียนอย่างอิสระนี้ ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
                การสอนทักษะการเขียน โดยใช้กิจกรรมที่นำเสนอข้างต้น จะช่วยพัฒนาคุณภาพทักษะการเขียนของผู้เรียนให้สูงขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความถี่ในการฝึกฝน ซึ่งผู้เรียนควรจะได้รับการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ทักษะการเขียนที่ดี จะนำไปสู่การสื่อสารที่สร้างความเข้าใจให้แก่ผู้อ่านสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คำสำคัญ ( Keywords)
                1. ทักษะการเขียน
                2. การเขียนแบบควบคุม ( Controlled Writing)
                3. การเขียนแบบกึ่งควบคุม ( Less Controlled Writng
                4. การเขียนแบบอิสระ ( Free Writing)

เทคนิคการสอนทักษะพูดภาษาอังกฤษ

เทคนิคการสอนทักษะการพูดภาษาอังกฤษ (Speaking Skill)
                การสอนภาษาทุกภาษา มีธรรมชาติของการเรียนรู้เช่นเดียวกัน คือ เริ่มจากการฟัง และการพูด  แล้วจึงไปสู่การอ่านและการเขียน ตามลำดับ   จุดมุ่งหมายของการพูด คือ การสื่อสารให้ผู้อื่นได้รับรู้ด้วยการพูดอย่างถูกต้องและคล่องแคล่ว  ครูผู้สอนควรมีความรู้และความสามารถอย่างไร  จึงจะสามารถจัดการเรียนรู้เพื่อฝึกทักษะการพูดให้แก่ผู้เรียนได้อย่างสอดคล้องกับระดับและศักยภาพของผู้เรียน
                 เทคนิควิธีปฎิบัติ
กิจกรรมการฝึกทักษะการพูด มี  3  รูปแบบ   คือ
1.1   การฝึกพูดระดับกลไก (Mechanical  Drills)  เป็นการฝึกตามตัวแบบที่กำหนดให้ในหลายลักษณะ  เช่น
                พูดเปลี่ยนคำศัพท์ในประโยค (Multiple Substitution Drill) 
                พูดตั้งคำถามจากสถานการณ์ในประโยคบอกเล่า (Transformation  Drill)
                พูดถามตอบตามรูปแบบของประโยคที่กำหนดให้ (Yes/No  Question-Answer Drill)
                พูดสร้างประโยคต่อเติมจากประโยคที่กำหนดให้  (Sentence  Building)
                พูดคำศัพท์  สำนวนในประโยคที่ถูกลบไปทีละส่วน  (Rub out and Remember)
                พูดเรียงประโยคจากบทสนทนา (Ordering  dialogues)
                พูดทายเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในบทสนทนา (Predicting  dialogue)
                พูดต่อเติมส่วนที่หายไปจากประโยค  ( Completing Sentences )
                พูดให้เพื่อนเขียนตามคำบอก  (Split  Dictation)
                ฯลฯ
1.2   การฝึกพูดอย่างมีความหมาย ( Meaningful  Drills)  เป็นการฝึกตามตัวแบบที่เน้นความหมายมากขึ้น มีหลายลักษณะ  เช่น  
                     พูดสร้างประโยคเปรียบเทียบโดยใช้รูปภาพ
                     พูดสร้างประโยคจากภาพที่กำหนดให้
                     พูดเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ในห้องเรียน
                     ฯลฯ
1.3   การฝึกพูดเพื่อการสื่อสาร  (Communicative  Drills)  เป็นการฝึกเพื่อมุ่งเน้นการสื่อสาร  เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสร้างคำตอบตามจินตนาการ  เช่น
                พูดประโยคตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง  ( Situation)
                พูดตามสถานการณ์ที่กำหนดให้  ( Imaginary  Situation)
                พูดบรรยายภาพหรือสถานการณ์แล้วให้เพื่อนวาดภาพตามที่พูด  ( Describe  and Draw)
                ฯลฯ

เทคนิคการสอนทักษะอ่านภาษาอังกฤษ

เทคนิคการสอนทักษะอ่านภาษาอังกฤษ
                เทคนิคการสอนอ่านภาษาอังกฤษมานำเสนอชาวแมงมุมมุกและผู้ที่สนใจค่ะครูสอนภาษาอังกฤษสามารถนำไปใช้ได้
                การอ่านภาษาอังกฤษ  มี 2  ลักษณะ คือ  การอ่านออกเสียง (Reading aloud) และ การอ่านในใจ  (Silent Reading )  การอ่านออกเสียงเป็นการอ่านเพื่อฝึกความถูกต้อง (Accuracy)  และความคล่องแคล่ว
( Fluency)  ในการออกเสียง  ส่วนการอ่านในใจเป็นการอ่านเพื่อรับรู้และทำความเข้าใจในสิ่งที่อ่านซึ่งเป็นการอ่านอย่างมีจุดมุ่งหมาย เช่นเดียวกับการฟัง  ต่างกันที่ การฟังใช้การรับรู้จากเสียงที่ได้ยิน ในขณะที่การอ่านจะใช้การรับรู้จากตัวอักษรที่ผ่านสายตา ทักษะการอ่านภาษาอังกฤษเป็นทักษะที่สามารถฝึกฝนให้ผู้เรียนเกิดความชำนาญและมีความสามารถเพิ่มพูนขึ้นได้  ด้วยเทคนิควิธีการโดยเฉพาะ  ครูผู้สอนจึงควรมีความรู้และเทคนิคในการสอนทักษะการอ่านให้แก่ผู้เรียนอย่างไรเพื่อให้การอ่านแต่ละลักษณะประสบผลสำเร็จ
1.   เทคนิควิธีปฏิบัติ
                1.1 การอ่านออกเสียง   การฝึกให้ผู้เรียนอ่านออกเสียงได้อย่าง ถูกต้อง และคล่องแคล่ว ควรฝึกฝนไปตามลำดับ โดยใช้เทคนิควิธีการ ดังนี้
                (1)  Basic Steps of Teaching (BST)   มีเทคนิคขั้นตอนการฝึกต่อเนื่องกันไปดังนี้
- ครูอ่านข้อความทั้งหมด 1 ครั้ง / นักเรียนฟัง
             - ครูอ่านทีละประโยค / นักเรียนทั้งหมดอ่านตาม
             - ครูอ่านทีละประโยค / นักเรียนอ่านตามทีละคน ( อาจข้ามขั้นตอนนี้ได้ ถ้านักเรียนส่วนใหญ่อ่านได้ดีแล้ว)
             - นักเรียนอ่านคนละประโยค ให้ต่อเนื่องกันไปจนจบข้อความทั้งหมด
             - นักเรียนฝึกอ่านเอง
             - สุ่มนักเรียนอ่าน
                (2)  Reading  for  Fluency ( Chain Reading)   คือ เทคนิคการฝึกให้นักเรียนอ่านประโยคคนละประโยคอย่างต่อเนื่องกันไป เสมือนคนอ่านคนเดียวกัน  โดยครูสุ่มเรียกผู้เรียนจากหมายเลขลูกโซ่  เช่น ครูเรียก Chain-number One  นักเรียนที่มีหมายเลขลงท้ายด้วย 1,11,21,31,41, 51  จะเป็นผู้อ่านข้อความคนละประโยคต่อเนื่องกันไป หากสะดุดหรือติดขัดที่ผู้เรียนคนใด ถือว่าโซ่ขาด  ต้องเริ่มต้นที่คนแรกใหม่ หรือ เปลี่ยน Chain-number ใหม่
                (3)  Reading and Look up คือ เทคนิคการฝึกให้นักเรียนแต่ละคน อ่านข้อความโดยใช้วิธี อ่านแล้วจำประโยคแล้วเงยหน้าขึ้นพูดประโยคนั้นๆ อย่างรวดเร็ว คล้ายวิธีอ่านแบบนักข่าว
                (4)  Speed Reading   คือ เทคนิคการฝึกให้นักเรียนแต่ละคน อ่านข้อความโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ การอ่านแบบนี้ อาจไม่คำนึงถึงความถูกต้องทุกตัวอักษร แต่ต้องอ่านโดยไม่ข้ามคำ เป็นการฝึกธรรมชาติในการอ่านเพื่อความคล่องแคล่ว (Fluency) และเป็นการหลีกเลี่ยงการอ่านแบบสะกดทีละคำ
                (5)  Reading for Accuracy   คือ การฝึกอ่านที่มุ่งเน้นความถูกต้องชัดเจนในการออกเสียง ทั้ง stress / intonation / cluster / final sounds ให้ตรงตามหลักเกณฑ์ของการออกเสียง (Pronunciation) โดยอาจนำเทคนิค Speed Reading   มาใช้ในการฝึก และเพิ่มความถูกต้องชัดเจนในการออกเสียงสิ่งที่ต้องการ จะเป็นผลให้ผู้เรียนมีความสามารถในการอ่านได้อย่างถูกต้อง (Accuracy) และ คล่องแคล่ว (Fluency) ควบคู่กันไป
                1.2  การอ่านในใจ     ขั้นตอนการสอนทักษะการอ่าน มีลักษณะเช่นเดียวกับขั้นตอนการสอนทักษะการฟัง โดยแบ่งเป็น  3   กิจกรรม  คือ   กิจกรรมนำเข้าสู่การอ่าน ( Pre-Reading)  กิจกรรมระหว่างการอ่าน หรือ ขณะที่สอนอ่าน (While-Reading) กิจกรรมหลังการอ่าน (Post-Reading)   แต่ละกิจกรรมอาจใช้เทคนิค ดังนี้
                1)  กิจกรรมนำเข้าสู่การอ่าน ( Pre-Reading)   การที่ผู้เรียนจะอ่านสารได้อย่างเข้าใจ ควรต้องมีข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับสารที่จะได้อ่าน โดยครูผู้สอนอาจใช้กิจกรรมนำให้ผู้เรียนได้มีข้อมูลบางส่วนเพื่อช่วยสร้างความเข้าใจในบริบท ก่อนเริ่มต้นอ่านสารที่กำหนดให้ โดยทั่วไป มี 2 ขั้นตอน คือ
- ขั้น Personalization เป็นขั้นสนทนา โต้ตอบ ระหว่างครู กับผู้เรียน หรือ ระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน เพื่อทบทวนความรู้เดิมและเตรียมรับความรู้ใหม่จากการอ่าน
- ขั้น Predicting เป็นขั้นที่ให้ผู้เรียนคาดเดาเกี่ยวกับเรื่องที่จะอ่าน โดยอาจใช้รูปภาพ แผนภูมิ หัวเรื่อง ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะได้อ่าน แล้วนำสนทนา หรือ อภิปราย หรือ หาคำตอบเกี่ยวกับภาพนั้น ๆ หรือ อาจฝึกกิจกรรมที่เกี่ยวกับคำศัพท์ เช่น ขีดเส้นใต้ หรือวงกลมล้อมรอบคำศัพท์ในสารที่อ่าน หรือ  อ่านคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่จะได้อ่าน เพื่อให้ผู้เรียนได้ทราบแนวทางว่าจะได้อ่านสารเกี่ยวกับเรื่องใด  เป็นการเตรียมตัวล่วงหน้าเกี่ยวกับข้อมูลประกอบการอ่าน และค้นหาคำตอบที่จะได้จากการอ่านสารนั้นๆ  หรือ ทบทวนคำศัพท์จากความรู้เดิมที่มีอยู่ ซึ่งจะปรากฏในสารที่จะได้อ่าน โดยอาจใช้วิธีบอกความหมาย  หรือทำแบบฝึกหัดเติมคำ ฯลฯ
                2)  กิจกรรมระหว่างการอ่าน  หรือ กิจกรรมขณะที่สอนอ่าน ( While-Reading)  เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติในขณะที่อ่านสารนั้น  กิจกรรมนี้มิใช่การทดสอบการอ่าน  แต่เป็นการ ฝึกทักษะการอ่านเพื่อความเข้าใจ  กิจกรรมระหว่างการอ่านนี้  ควรหลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติทักษะอื่นๆ  เช่น  การฟัง  หรือ  การเขียน  อาจจัดกิจกรรมให้พูดโต้ตอบได้บ้างเล็กน้อย  เนื่องจากจะเป็นการเบี่ยงเบนทักษะที่ต้องการฝึกไปสู่ทักษะอื่นโดยมิได้เจตนา   กิจกรรมที่จัดให้ในขณะฝึกอ่าน  ควรเป็นประเภทต่อไปนี้
- Matching   คือ อ่านแล้วจับคู่คำศัพท์ กับ คำจำกัดความ หรือ จับคู่ประโยค เนื้อเรื่องกับภาพ แผนภูมิ
- Ordering   คือ อ่านแล้วเรียงภาพ แผนภูมิ ตามเนื้อเรื่องที่อ่าน หรือ เรียงประโยค (Sentences) ตามลำดับเรื่อง หรือเรียงเนื้อหาแต่ละตอน (Paragraph) ตามลำดับของเนื้อเรื่อง
- Completing คือ อ่านแล้วเติมคำ สำนวน ประโยค   ข้อความ ลงในภาพ แผนภูมิ ตาราง ฯลฯ ตามเรื่องที่อ่าน
- Correcting    คือ อ่านแล้วแก้ไขคำ สำนวน ประโยค ข้อความ ให้ถูกต้องตามเนื้อเรื่องที่ได้อ่าน
- Deciding   คือ อ่านแล้วเลือกคำตอบที่ถูกต้อง (Multiple Choice)   หรือ เลือกประโยคถูกผิด (True/False) หรือ เลือกว่ามีประโยคนั้นๆ ในเนื้อเรื่องหรือไม่ หรือ เลือกว่าประโยคนั้นเป็นข้อเท็จจริง (Fact) หรือ เป็นความคิดเห็น (Opinion)
- Supplying / Identifying   คือ  อ่านแล้วหาประโยคหัวข้อเรื่อง ( Topic  Sentence)  หรือ สรุปใจความสำคัญ( Conclusion)  หรือ จับใจความสำคัญ ( Main Idea) หรือตั้งชื่อเรื่อง (Title)  หรือ ย่อเรื่อง (Summary)  หรือ หาข้อมูลรายละเอียดจากเรื่อง ( Specific  Information)
                3)  กิจกรรมหลังการอ่าน (Post-Reading)  เป็นกิจกรรมที่มุ่งให้ผู้เรียนได้ฝึกการใช้ภาษาในลักษณะทักษะสัมพันธ์เพิ่มขึ้นจากการอ่าน  ทั้งการฟัง  การพูดและการเขียน ภายหลังที่ได้ฝึกปฏิบัติกิจกรรมระหว่างการอ่านแล้ว  โดยอาจฝึกการแข่งขันเกี่ยวกับคำศัพท์  สำนวน ไวยากรณ์ จากเรื่องที่ได้อ่าน  เป็นการตรวจสอบทบทวนความรู้  ความถูกต้องของคำศัพท์  สำนวน  โครงสร้างไวยากรณ์  หรือฝึกทักษะการฟังการพูดโดยให้ผู้เรียนร่วมกันตั้งคำถามเกี่ยวกับเนื้อเรื่องแล้วช่วยกันหาคำตอบ สำหรับผู้เรียนระดับสูง อาจให้พูดอภิปรายเกี่ยวกับอารมณ์หรือเจตคติของผู้เขียนเรื่องนั้น  หรือฝึกทักษะการเขียนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่ได้อ่าน  เป็นต้น